วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประเภทของนักท่องเที่ยว

          นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศหรือนักท่องเที่ยวภายในประเทศก็ตาม สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท ดังต่อไปนี้ (Police Department, Immigration Bureau อ้างถึงใน อังศวีร์ ทองรอด, 2551, หน้า 93)

          1. นักท่องเที่ยวประเภทหรูหรา เป็นนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง มักเรียกร้องบริการทางการท่องเที่ยวชนิดหรูหรา และพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการในอัตราสูง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวมีกำไรต่อหน่วยสูงจากการขายบริการให้นักท่องเที่ยวประเภทนี้ โดยปกตินักท่องเที่ยวประเภทนี้จะมีจำนวนไม่มากนัก มักจู้จี้และเอาใจยากแต่จ่ายดี

          2. นักท่องเที่ยวประเภทระดับกลาง เป็นนักท่องเที่ยวประเภทที่มีรายได้ปานกลางไม่จู้จี้ หรือเรียกร้องบริการทางการท่องเที่ยวมากเหมือนนักท่องเที่ยวประเภทหรูหรานักท่องเที่ยวประเภทระดับกลางนี้ มักเป็นนักท่องเที่ยวที่อารมณ์ดี มุ่งความสนุกสนานเป็นสำคัญ โดยมีบริการทางการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องหรูหรามากนัก แต่ก็ไม่แย่จนเกินไป โดยปกตินักท่องเที่ยวประเภทนี้จะมีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวประเภทหรูหรา จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการทางการท่องเที่ยวมีรายได้มากตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่สามารถทำกำไรต่อหน่วยไม่สูงนัก

          3. นักท่องเที่ยวประเภทระดับสื่อมวลชน เป็นนักท่องเที่ยวประเภทที่มีจำนวนมากที่สุด ส่วนมากมีรายได้น้อย หรือไม่มีรายได้ประจำ ต้องการบริการทางการท่องเที่ยวแบบพื้น ๆ ในราคาถูก เอาใจง่าย นักท่องเที่ยวประเภทนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยได้รับการจูงใจจากการโฆษณา และบริการที่ธุรกิจนำเที่ยวจัดขึ้นเพื่อชักชวนนักท่องเที่ยวประเภทนี้มีจำนวนมากมาย ทำให้ผู้ประกอบกิจการทางการท่องเที่ยวมีรายได้มากมายตามไปด้วย แต่สามารถทำกำไรต่อหน่วยน้อย อีกทั้งยังมีการแข่งขันสูง


          สำหรับประเทศไทยนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้แบ่งนักท่องเที่ยวออกเป็น 6 ประเภท เพื่อประโยชน์ในงานสถิติดังต่อไปนี้ (Police Department,Immigration Bureau อ้างถึงใน อังศวีร์ ทองรอด, 2551, หน้า 94)

          1. นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (international visitor) คือ บุคคลที่มิได้มีที่พำนักถาวรในราชอาณาจักรไทย เดินทางเข้ามาเพื่อผักผ่อน เยี่ยมญาติมิตร ศึกษาหาความรู้การกีฬา การศาสนา ติดต่อธุรกิจ หรือประกอบภารกิจใด ๆ ทั้งนี้ต้องมิได้รับค่าจ้างในการประกอบภารกิจนั้นจากผู้ในราชอาณาจักรไทย

          2. นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ค้างคืน (international tourist) คือ นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย แต่ละครั้งอย่างน้อย 1 คืน แต่ไม่เกิน 60 วัน

          3. นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ไม่ค้างคืน (international excursionist) คือ นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแต่ละครั้งโดยมิได้ค้างคืน

          4. นักท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic visitor) คือ บุคคลทุกสัญชาติที่มีที่พำนักอาศัยถาวรอยู่ในราชอาณาจักรไทย และเดินทางไปยังสถานที่หนึ่งในอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นถิ่นที่อยู่ประจำของเขา เพื่อผักผ่อน เยี่ยมญาติมิตร ศึกษาหาความรู้ การกีฬา การศาสนา การประชุม สัมมนา ติดต่อธุรกิจ หรือประกอบภารกิจใด ๆ ทั้งนี้ต้องมิได้รับค่าจ้างในการประกอบภารกิจนั้น ๆ จากผู้ใด ณ สถานที่แห่งนั้น

          5. นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ค้างคืน (domestic tourist) คือ นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ไปค้างคืนนอกที่พำนักอาศัยปัจจุบันแต่ละครั้งอย่างน้อย 1 คืน

          6. นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ไม่ค้างคืน (domestic excursionist) คือ นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้พักค้างคืนนอกที่พำนักอาศัยปัจจุบัน

          การศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียง พบว่า ในความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่น 5 อันดับแรก คือ อัธยาศัยของคนในประเทศ อาหาร ชายฝั่งทะเล สถานที่ประวัติศาสตร์ และการซื้อสินค้าที่ระลึก ซึ่งจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาหารเป็นปัจจัยที่จำเป็นที่นักท่องเที่ยวจะต้องรับประทานขณะเดินทางอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ คือ มื้อเช้า กลางวันและเย็น อาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการนำอาหารไทยมารองรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น (ทัศนีย์ ลิ้มสุวรรณ และคนอื่น ๆ, 2547, หน้า 9)

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=5964.0
ความหมายของนักท่องเที่ยว

          นักท่องเที่ยว (tourist) ตามความหมายของสันนิบาตชาติที่ได้ให้คำนิยามไว้ในปี พ.ศ. 2480 ว่านักท่องเที่ยว หมายถึง บุคคลที่เดินทางอยู่ในประเทศหนึ่งประเทศใดที่มิใช่บ้านเมืองที่อาศัยอยู่เป็นประจำเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และได้ขยายความต่อไปอีกว่า บุคคลเช่นใด นับเป็นนักท่องเที่ยว และบุคคลเช่นใดไม่นับเป็นนักท่องเที่ยวดังต่อไปนี้ คือ (บุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา, 2548, หน้า 20-29)

          1. บุคคลที่นับเป็นนักท่องเที่ยว ได้แก่
                    1.1 ผู้ที่เดินทางเพื่อผักผ่อนใจหรือเพื่อสุขภาพ
                    1.2 ผู้ที่เดินทางไปประชุมหรือประกอบภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง
                    1.3 ผู้ที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจการค้าบางประการ
                    1.4 ผู้ที่เดินทางมากับเรือที่เพลินตากับทิวทัศน์สองฝั่งน้ำ แม้จะแวะพักอยู่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก็ตาม

          2. บุคคลที่ไม่นับเป็นนักท่องเที่ยว ได้แก่
                    2.1 ผู้เดินทางมาเพื่อประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งประกอบธุรกิจที่มีรายได้ในประเทศนั้น โดยจะมีสัญญาไว้กับผู้ใดหรือไม่ก็ตาม
                    2.2 ผู้เดินทางมาเพื่อตั้งถิ่นฐานที่อยู่อย่างถาวรในประเทศนั้น
                    2.3 ผู้เดินทางข้ามพรมแดนไปทำงานนอกประเทศของตน
                    2.4 ผู้เดินทางเพื่อเข้าไปเป็นนักเรียน หรือนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในที่ที่จัดไว้เป็นหอพักนักเรียนนักศึกษา
                    2.5 ผู้เดินทางผ่านโดยมิได้แวะลงจากยานพาหนะเลย แม้ว่าจะเดินทางอยู่ในอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง ก็ตาม
                    2.6 ผู้ลี้ภัยทางการเมืองหรือผู้ลี้ภัยทางศาสนา ไปอยู่ต่างประเทศหรือผู้ลี้ภัยสงคราม

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 สหพันธ์องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (International Union of Official Travel Organization- -IUOTO) ได้หยิบยกคำนิยามของนักท่องเที่ยวมาพิจารณาใหม่ และได้ตกลงให้นักเรียน หรือนักศึกษาต่างประเทศ นับเป็นนักท่องเที่ยวด้วย เพราะค่าใช้จ่ายของนักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นมาจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังให้เรียกผู้เดินทางที่ตั้งใจมาท่องเที่ยว ณ ประเทศหนึ่ง แต่อยู่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ว่าเป็นนักทัศนาจร (excursionist) ซึ่งรวมถึงผู้โดยสารที่เดินทางผ่านประเทศโดยมิได้ออกจากบริเวณที่จัดไว้สำหรับผู้เดินทางผ่านสนามบินด้วย

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมว่าด้วยการเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้คิดคำขึ้นใหม่แทนคำว่า นักท่องเที่ยว คือ คำว่า “ผู้เยี่ยมเยือนต่างประเทศ” หรือ “Foreign Visitor” ซึ่งหมายถึง บุคคลที่เดินทางไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยถาวรของตนด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ไม่ใช่ไปเพื่อประกอบอาชีพหารายได้ โดยแบ่งผู้มาเยือนต่างประเทศออกเป็น 2 ประเภท คือ

          1. ประเภทที่ 1 นักท่องเที่ยวต่างปรเทศ (foreign tourist) หมายถึง ผู้มาเยือนชั่วคราวที่มาพักอยู่ในประเทศที่มาเยือนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และเป็นการมาเยือนด้วยวัตถุประสงค์อื่น ที่มิใช่เพื่อประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งหรือไปอยู่ประจำ

          2. ประเภทที่ 2 นักทัศนาจรต่างประเทศ (foreign tourist) หมายถึง ผู้มาเยือนชั่วคราวที่เข้าไปอยู่ในประเทศที่มาเยือนน้อยกว่า 24 ชั่วโมง และมิได้พักค้างคืน ซึ่งรวมถึงผู้มาเยือนกับเรือที่เพลินตากับทิวทัศน์สองฝั่งน้ำด้วย

          สำหรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic tourist) หมายถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของตน โดยใช้เส้นทางที่มิได้ใช้อยู่เป็นประจำวัน หรือออกไปนอกเขตจังหวัดภูมิลำเนาของตน

          ส่วนประเทศไทยได้ให้ความหมายของนักท่องเที่ยวไว้ในมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2522 ว่านักท่องเที่ยว หมายถึง บุคคลที่เดินทางจากท้องถิ่นอันเป็นถิ่นที่อยู่โดยปกติของตนไปยังท้องถิ่นอื่นเป็นการชั่วคราวด้วยความสมัครใจ และด้วยวัตถุประสงค์ที่มิใช่เพื่อประกอบอาชีพหรือหารายได้

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=5964.0

One Direction - Live While We're Young


ที่มา http://www.youtube.com/watch?v=AbPED9bisSc

ความหมายของพฤติกรรมนักท่องเที่ยว

                 พฤติกรรมนักท่องเที่ยว  เป็นการกระทำทุกอย่างของนักท่องเที่ยวไม่ว่าการกระทำนั้นนักท่องเที่ยวจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม  และบุคคลอื่นจะสังเกตการกระทำนั้นได้หรือไม่ก็ตามก็เพื่อมุ่งตอบสนองสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสภาพการณ์ใดสภาพการณ์หนึ่ง  โดยพฤติกรรมภายนอกของนักท่องเที่ยว (Tourist’s Overt Behaviour) เป็นพฤติกรรมที่ผู้อื่นสังเกตได้โดยอาศัยประสาทสัมผัส  ส่วนพฤติกรรมภายในของนักท่องเที่ยว (Tourist’s Covert Behaviour)  เป็นการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายรวมทั้งความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ที่ถูกควบคุมอยู่ภายในจะมีความสัมพันธ์กัน  โดยพฤติกรรมภายในจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมภายนอกเป็นส่วนใหญ่
           องค์ประกอบของพฤติกรรมนักท่องเที่ยวนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ  7  ประการ  คือ
           1. เป้าหมาย  หมายถึง  พฤติกรรมนักท่องเที่ยวทุกๆ พฤติกรรม  จะต้องมีเป้าหมายในการกระทำ  เช่น  นักท่องเที่ยวกลุ่มอนุรักษ์ต้องการ เกียรติยศโดยการแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าตนเดินทางท่องเที่ยวโดยที่สภาพแวดล้อมในสถานที่ตนเดินทางยังคงสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ดังเดิม
            2.  ความพร้อม  หมายถึง  ความมีวุฒิภาวะ  และความสามารถในการทำกิจกรรม  เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ  เช่น  นักท่องเที่ยวกลุ่มที่รักความผจญภัย  นิยมไต่เขา  ปีนหน้าผาต้องมีความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจแล้วสามารถจะทำกิจกรรมที่ตนชอบได้
            3.  สถานการณ์ หมายถึง  เหตุการณ์หรือโอกาสที่เอื้ออำนวยให้เลือกกระทำกิจกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการ  เช่น  การท่องเที่ยวตามหมู่เกาะ  ควรกระทำในยามคลื่นลมสงบ  ไม่ควรทำในขณะที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง 
            4.  การแปลความหมาย  หมายถึง  วิธีการคิดแบบต่างๆ  เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่พอใจมากที่สุดในสถานการณ์หนึ่ง ๆ  เช่น  เวลาสิบสองนาฬิกา  เป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวควรเป็นเวลาที่นักท่องเที่ยวควรหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน
            5.  การตอบสนอง  คือ  การตัดสินใจกระทำกิจกรรมตามที่ตนได้ตัดสินใจเลือกสรรแล้ว  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ  เช่น  นักท่องเที่ยวได้ตัดสินใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด เพื่อพักผ่อน ดังนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องวางแผนการเดินทาง และจัดการดำเนินการล่วงหน้า ในการกระทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตั้งแต่กิจกรรมการกำหนดสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมการเดินทาง กิจกรรมการจองที่พัก เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง
            6.  ผลลัพธ์ที่ตามมา  คือ  ผลจากการกระทำหนึ่ง ๆ  อาจได้ผลตามที่คาดหมายไว้  หรืออาจตรงกันข้ามกับความคาดหวังที่ตั้งใจไว้  เช่น นักท่องเที่ยวได้มีกำหนดการเดินทางไว้เพื่อมาพักผ่อนวันหยุดในประเทศไทย แต่ปรากฏว่าในเวลานั้นเกิดการชุมนุมที่สนามบิน และทำให้สนามบินต้องปิดทำการ เครื่องบินไม่สามารถลงจอดได้ มีผลลัพธ์ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถบรรลุผลตามที่คาดหมายไว้ได้
            7.  ปฏิกิริยาต่อความผิดหวัง  คือ  ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่กระทำลงไปไม่บรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการ  จึงต้องกลับมาแปลความหมาย  ไตร่ตรอง  เพื่อเลือกหาวิธีใหม่ๆ  มาตอบสนองความต้องการ  หรืออาจจะเลิกความต้องการไป  เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เกินความสามารถ     เช่น การก่อวินาศกรรมในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจจะเดินทางไปเมืองดังกล่าว จะต้องเกิดความผิดหวังเพราะเกิดความกังวลด้านความปลอดภัย และอาจล้มเลิกความตั้งใจในการเดินทาง หรืออาจเปลี่ยนเส้นทางไปเมืองอื่นที่ปลอดภัยกว่า


ที่มาhttp://touristbehaviour.wordpress.com/1/

                    ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Blogger แนะนำพฤติกรรมนักท่องเที่ยว