วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประเภทของนักท่องเที่ยว

          นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศหรือนักท่องเที่ยวภายในประเทศก็ตาม สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท ดังต่อไปนี้ (Police Department, Immigration Bureau อ้างถึงใน อังศวีร์ ทองรอด, 2551, หน้า 93)

          1. นักท่องเที่ยวประเภทหรูหรา เป็นนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง มักเรียกร้องบริการทางการท่องเที่ยวชนิดหรูหรา และพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการในอัตราสูง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวมีกำไรต่อหน่วยสูงจากการขายบริการให้นักท่องเที่ยวประเภทนี้ โดยปกตินักท่องเที่ยวประเภทนี้จะมีจำนวนไม่มากนัก มักจู้จี้และเอาใจยากแต่จ่ายดี

          2. นักท่องเที่ยวประเภทระดับกลาง เป็นนักท่องเที่ยวประเภทที่มีรายได้ปานกลางไม่จู้จี้ หรือเรียกร้องบริการทางการท่องเที่ยวมากเหมือนนักท่องเที่ยวประเภทหรูหรานักท่องเที่ยวประเภทระดับกลางนี้ มักเป็นนักท่องเที่ยวที่อารมณ์ดี มุ่งความสนุกสนานเป็นสำคัญ โดยมีบริการทางการท่องเที่ยวที่ไม่ต้องหรูหรามากนัก แต่ก็ไม่แย่จนเกินไป โดยปกตินักท่องเที่ยวประเภทนี้จะมีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวประเภทหรูหรา จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการทางการท่องเที่ยวมีรายได้มากตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่สามารถทำกำไรต่อหน่วยไม่สูงนัก

          3. นักท่องเที่ยวประเภทระดับสื่อมวลชน เป็นนักท่องเที่ยวประเภทที่มีจำนวนมากที่สุด ส่วนมากมีรายได้น้อย หรือไม่มีรายได้ประจำ ต้องการบริการทางการท่องเที่ยวแบบพื้น ๆ ในราคาถูก เอาใจง่าย นักท่องเที่ยวประเภทนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยได้รับการจูงใจจากการโฆษณา และบริการที่ธุรกิจนำเที่ยวจัดขึ้นเพื่อชักชวนนักท่องเที่ยวประเภทนี้มีจำนวนมากมาย ทำให้ผู้ประกอบกิจการทางการท่องเที่ยวมีรายได้มากมายตามไปด้วย แต่สามารถทำกำไรต่อหน่วยน้อย อีกทั้งยังมีการแข่งขันสูง


          สำหรับประเทศไทยนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้แบ่งนักท่องเที่ยวออกเป็น 6 ประเภท เพื่อประโยชน์ในงานสถิติดังต่อไปนี้ (Police Department,Immigration Bureau อ้างถึงใน อังศวีร์ ทองรอด, 2551, หน้า 94)

          1. นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (international visitor) คือ บุคคลที่มิได้มีที่พำนักถาวรในราชอาณาจักรไทย เดินทางเข้ามาเพื่อผักผ่อน เยี่ยมญาติมิตร ศึกษาหาความรู้การกีฬา การศาสนา ติดต่อธุรกิจ หรือประกอบภารกิจใด ๆ ทั้งนี้ต้องมิได้รับค่าจ้างในการประกอบภารกิจนั้นจากผู้ในราชอาณาจักรไทย

          2. นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ค้างคืน (international tourist) คือ นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทย แต่ละครั้งอย่างน้อย 1 คืน แต่ไม่เกิน 60 วัน

          3. นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ไม่ค้างคืน (international excursionist) คือ นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแต่ละครั้งโดยมิได้ค้างคืน

          4. นักท่องเที่ยวภายในประเทศ (domestic visitor) คือ บุคคลทุกสัญชาติที่มีที่พำนักอาศัยถาวรอยู่ในราชอาณาจักรไทย และเดินทางไปยังสถานที่หนึ่งในอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นถิ่นที่อยู่ประจำของเขา เพื่อผักผ่อน เยี่ยมญาติมิตร ศึกษาหาความรู้ การกีฬา การศาสนา การประชุม สัมมนา ติดต่อธุรกิจ หรือประกอบภารกิจใด ๆ ทั้งนี้ต้องมิได้รับค่าจ้างในการประกอบภารกิจนั้น ๆ จากผู้ใด ณ สถานที่แห่งนั้น

          5. นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ค้างคืน (domestic tourist) คือ นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ไปค้างคืนนอกที่พำนักอาศัยปัจจุบันแต่ละครั้งอย่างน้อย 1 คืน

          6. นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ไม่ค้างคืน (domestic excursionist) คือ นักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ได้พักค้างคืนนอกที่พำนักอาศัยปัจจุบัน

          การศึกษาศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียง พบว่า ในความเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเห็นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่น 5 อันดับแรก คือ อัธยาศัยของคนในประเทศ อาหาร ชายฝั่งทะเล สถานที่ประวัติศาสตร์ และการซื้อสินค้าที่ระลึก ซึ่งจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา มีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาหารเป็นปัจจัยที่จำเป็นที่นักท่องเที่ยวจะต้องรับประทานขณะเดินทางอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ คือ มื้อเช้า กลางวันและเย็น อาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการนำอาหารไทยมารองรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น (ทัศนีย์ ลิ้มสุวรรณ และคนอื่น ๆ, 2547, หน้า 9)

ที่มา http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=5964.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น